การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล สำหรับคณะสงฆ์ภาค 14-15
การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล สำหรับคณะสงฆ์ภาค 14-15
โครงการเสริมสร้างสุขภาวะเชิงพุทธของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ในสังคมไทย ภายใต้สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล สำหรับคณะสงฆ์ภาค 14-15" ณ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมีพระสงฆ์ที่ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายเผยแผ่, ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และประธาน อ.ป.ต. ต้นแบบ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้
ตลอดระยะเวลา 2 วัน ผู้เข้าร่วมการอบรมได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถหลายท่านด้วยกัน อาทิ พระธรรมโพธิมงคล ผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 14 บรรยายพิเศษเกี่ยวกับหลักการทำงาน เป้าหมาย และความคาดหวังของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)
พระเทพศาสนาภิบาล รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 บรรยายในหัวข้อ “นโยบายและแนวปฏิบัติของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)” นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการติดตามการทำงานของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ
พระราชวรเมธี รศ. ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ "การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)" เป็นการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมให้กับพระสงฆ์เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน และชี้ชวนให้พระสงฆ์ในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้ยึดโยงแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือ "มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน" และแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา คือ "พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน"
พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ. ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ "การเขียนโครงการและกิจกรรมของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)" เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันทางพระพุทธศาสนากับสังคมสมัยใหม่ เพื่อชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้เกิดแนวคิด การริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่การเกิดกิจกรรมและนวัตกรรมในพื้นที่ โดยอันดับแรก ต้องมีการวิเคราะห์บริบทของพื้นที่ตนเองเสียก่อน ว่ามีจุดเด่นในเรื่องใด มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอย่างไร
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการอบรมยังได้มีโอกาสเขียนโครงการพัฒนา ผ่านการให้ข้อคิดเห็นจาก
ดร.เบญจมาศ สุขสถิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เพื่อให้เกิดการวางแผน การคิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานทั้ง 8 ด้าน ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมสุขภาวะวิถีพุทธ พัฒนาชุดความรู้สำหรับขับเคลื่อนเครือข่ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ตอบสนองการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ ตลอดจนการ “พลิกฟื้น” และ “เปลี่ยนผ่าน” ให้องค์กรพระพุทธศาสนากลับมาเป็นศูนย์กลางทางปัญญาและสุขภาวะของชุมชนต่อไป